ปาล์มน้ำมัน

     สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การปลูกปาล์มน้ำมันได้รับผลสำเร็จ เมื่อพิจารณาสภาพภูมิอากาศข้างต้นแล้ว เกษตรกรควรพิจารณาศักยภาพของพื้นที่เหมาะสม โดยการตรวจสอบพื้นที่ก่อนปลูก ปาล์มน้ำมันเสียก่อนโดยสอบถามจากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ในพื้นที่ที่ปลูกปาล์มน้ำมันว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อพื้นที่เหมาะสมควรปลูกปาล์มน้ำมันทันที หากพื้นที่ไม่เหมาะสมควรปลูกพืชชนิดอื่น หากปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้ว ควรพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

พันธุ์ปาล์มน้ำมัน

          พันธุ์ดูร่า (Dura) มีชั้นนอกของเปลือกให้น้ำมันร้อยละ ๓๕ – ๖๐ ของน้ำหนักผลปาล์มทั้งหมด พันธุ์ปาล์มน้ำมันดูร่าที่ดีพบในแถบตะวันออกไกลซึ่งน้ำมันต่อทะลายประมาณ ร้อยละ ๑๘ – ๑๙.๕ กะลาหนาปานกลาง ๒ – ๘ มิลลิเมตร หรือร้อยละ ๒๕ – ๓๐ ของน้ำหนักผล และมีเปลือกชั้นนอกหนา ๒๐ – ๖๐ มิลลิเมตร ปาล์มน้ำมันดูร่าที่มีกะลาหนามาก ๆ ๔ – ๘.๕ มิลลิเมตร หรือร้อยละ ๕๐ ของน้ำหนักผล มีส่วนเปลือกนอกบาง พันธุ์ดูร่านี้ใช้เป็นแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกผสมพันธ์เทเนอร่า

          พันธุ์พิสิเฟอร่า (Pisifera) มีกะลาบางมาก เปลือกหนากว่าพันธุ์ดูร่าประมาณ ๕ – ๑๐ มิลลิเมตร) เมล็ดในเล็ก มีข้อเสียคือ ขนาดของผลเล็ก ช่อดอกตัวเมียเป็นหมัน และมีการผลิตทะลายต่อต้นจำนวนต่ำ ดังนั้นจึงเป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกเป็นการค้า ปัจจุบันใช้พันธุ์นี้เป็น พ่อพันธุ์สำหรับผลิตพันธุ์ผสมเทเนอร่า

          พันธุ์เทเนอร่า (Tenera) คือพันธุ์ที่แนะนำให้ปลูกเป็นพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์ดูร่ากับพันธุ์พิลิเฟอ ร่าใช้พันธุ์ดูร่าเป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์พิสิเฟอร่าเป็นพันธุ์พ่อเข้าด้วยกัน (DXP) พันธุ์เทเนอร่ามีกะลาบาง (๐๕ – ๔ มิลลิเมตร) และมีน้ำหนักต่อทะลายประมาณร้อยละ ๒๒ – ๒๕ มีทะลายดกกว่าพันธุ์ดูร่า เนื่องจากพันธุ์เทเนอร่ามีคุณสมบัติดีคือมีกะลาบางได้น้ำมันจากส่วน เปลือกชั้นกลางมากกว่าพันธุ์ดูร่าประมาณ้ร้อยละ ๒๕ จึงมักนิยมปลูกเป็นการค้า ลักษณะผลผลิตสีดำ เมื่อสุกเปลือกนอกมีสีส้มแดง กะลาบาง ให้น้ำมันปาล์มสูง

การเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

          ก่อนปลูกปาล์มน้ำมัน ต้องมีการเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกอย่างน้อย ๑ ปี และควรทำให้ช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนธันวาคม – เมษายน ควรแบ่งพื้นที่ให้เป็นแปลงย่อย เพื่อให้ปฏิบัติได้ง่ายและสะดวก แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่และแรงงานด้วย การโค่นต้นไม่หรือถางป่า โดยใช้เครื่องมือตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ตามความเหมาะสม เคลื่อนย้ายต้นไม้ออกหรือเผา แล้วปรับสภาพพื้นที่ และพิจารณาการทำถนน การระบายน้ำ รวมถึงการวางแนวระยะปลูกด้วย

          เมื่อพิจารณาพื้นที่ส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงไถครั้งแรกด้วยไถแบบ ๓ จานจำนวน ๓ ครั้ง ห่างกันประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วไถด้วยไถแบบ ๗ จาน จำนวน ๑ ครั้ง หลังจากนั้นฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น ราวอัพ เพื่อกำจัดวัชพืชครั้งสุดท้ายก่อนปลูก

การสร้างถนนและทางระบายน้ำ

          ถนนในสวนปาล์มน้ำมันเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเข้าปฏิบัติงานการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว และควรมีทิ้ง ๒ ประเภท คือ

          ๑.ถนนใหญ่ ความกว้างประมาณ ๖ เมตร และควรมี ๒ สาย ต่อ ๑ แปลงใหญ่คือด้านหน้าและด้านหลังแปลง ควรอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า ๑ กิโลเมตร

          ๒.ถนนเข้าแปลง เชื่อมจากถนนใหญ่ เพื่อขนส่งวัสดุการเกษตรและผลผลิตในสวนปาล์มน้ำมัน ความกว้างประมาณ ๔ เมตร ควรห่างกันประมาณ ๕๐๐ เมตร

          ๓.ทางระบายน้ำ จำเป็นสำหรับพื้นที่ปลูกซึ่งมีสภาพเป็นลุ่มและมีน้ำท่วมควรทำพร้อมกับการตัดถนน ร่องน้ำมี ๓ ประเภท คือ

          3.1 ร่องระบายน้ำในแปลง        3.2 ร่องระบายน้ำรวม

          3.3 ร่องระบายน้ำใหญ่

การปลูกปาล์มน้ำมัน

          การวางแนว หลังจากเตรียมพื้นที่ ตัดถนนและทางระบายน้ำแล้ว จึงวางแนวการปลูกโดยพิจารณาจากความสอดคล้องกับการทำงาน การระบายน้ำ ความลาดเทของพื้นที่ ทิศทางของแสงแดดเพื่อให้ปาล์มน้ำมัน ได้รับแสงแดมากที่สุด เพื่อให้ใบได้มีกระบวนการสังเคราะห์แสง ควรปลูกปาล์มน้ำมันแบบสามเหลี่ยม ด้านเท่า แถวหลักเป็นฐานอยู่ในแนวทิศเหนือ – ใต้ แถวที่ใกล้กันจะปลูกกึ่ง กลางเป็นระยะยอดของสามเหลี่ยมด้านเท่า และการจัดระยะการปลูก ๙x๙ เมตร เป็นที่นิยมมากที่สุดเนื่อง จากทำให้ต้นได้รับแสงมากที่สุด

          หลุมปลูก เมื่อวางแนวปลูกและปักไม้เป็นเครื่องหมายแล้ว ขุดหลุมขนาดกว้าง ๔๕ ซม. ยาว ๔๕ ซม. ลึก ๓๕ ซม. เป็นรูปตัวยู โดยให้จุดที่ปักไม้เป็นจุดกลางหลุม ใช้เสียมแซะดินให้หลุมตั้งตรงขุดดินชั้นบนและชั้นล่างแยกกัน ตากไว้ประมาณ ๑๐ วัน ก่อนนำต้นกล้ามาปลูก

          ฤดูปลูก ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน คือ ต้นฤดูฝน ประมาณ เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ควรปลูกเมื่อฝนเริ่มตกแล้ว เพราะดินจะมีความชื้นเพื่อให้ต้นกล้าได้มีเวลาตั้งตัวในแปลงได้นาน

          การปลูก การปลูกอย่างถูกวิธี จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมันดีและให้ผลผลิตสูง อายุต้นกล้าที่เหมาะสมประมาณ ๑๐ – ๑๒ เดือน ต้นกล้าที่มีอายุน้อยเกินไป จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ สำหรับต้นกล้าที่มีอายุมากเกินไปผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและตกผลช้าและไม่ สะดวกในการขนย้าย บางครั้งไม่สามารถใช้ต้นกล้าที่มีอายุเท่าที่กำหนดได้เราสามารถแก้ไขได้โดย ตัดใบบางส่วนทิ้งบ้าง และระวังอย่าให้รากบอกบซ้ำจากการขนย้ายมากนัก การขนย้ายต้นกล้า ควรขนย้ายต้นกล้าปาล์มน้ำมันด้วยความประณีต ไม่ให้กระทบกระเทือนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ไห้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต

มาตรฐานในการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน

          ๑.จะต้องไม่ตัดผลปาล์มดิบไปขายเพราะจะถูกตัดราคา

          ๒.จะต้องไม่ปล่อยให้ผลสุกคาต้นเกินไป

          ๓.ต้องเก็บผลปาล์มร่วงบนพื้นให้หมด

          ๔.ต้องไม่ทำให้ผลปาล์มที่เก็บเกี่ยวมีบาดแผล

          ๕.ต้องคัดเลือกทะลายปาล์มหรือเขย่าผลที่มีอยู่น้อยออกแล้วทิ้งทะลายเปล่าไป

          ๖.ตัดขั้วทะลายให้สั้นเท่าที่จะทำได้

          ๗.ต้องทำความสะดวกผลปาล์มที่เปื้อนดิน อย่าให้มีเศษหินดินปน

          ๘.ต้องรีบส่งผลปาล์มไปยังโรงงาน ภายใน ๒๔ ชั่วโมง